preloading
latest news latest news
Corporate Governance Policy

Corporate Governance Policy

img name
img name
img name

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมหลักขององค์กร

วิสัยทัศน์ (Vision)

มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในระดับสากล

พันธกิจ (Mission)

ใส่ใจในการสร้างสรรค์สินค้าอย่างพิถีพิถันถึงคุณภาพสูงสุด เพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นผู้นำ และบรรลุความพึงพอใจสูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

ABC Principles of Leadership

A : AGILITY   เร็ว: ความรวดเร็ว และความถูกต้องในการทำงาน ทันต่อตลาด เพราะเราอยู่ในธุรกิจที่เป็น Fast Moving

B : BOLD        กล้า: กล้าที่จะคิด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะพูด รวมถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะยอมรับความแตกต่าง เพื่อผลลัพธ์ และเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

C : CARE        ใส่ใจ: คำนึงถึงผู้บริโภคและลูกค้า รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการทำงานทั้งตนเอง ส่วนรวม และสังคม

 

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

      คณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่าภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทตระหนัก และมุ่งมั่นที่จะบริหารงานโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารกำหนดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่จะนำองค์กรให้เติบโตด้วยความโปร่งใส และมีส่วนรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยแบ่งเป็นหมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 คณะกรรมการบริษัท และคณะอนุกรรมการ

1.1    คณะกรรมการบริษัท

1.2     คณะอนุกรรมการ

หมวดที่ 2 ฝ่ายบริหาร

หมวดที่ 3 หลักการและนโยบายของบริษัทนโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล

3.1     นโยบายสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น

3.2     นโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสีย

3.3     นโยบายการเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส

3.4     นโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน

3.5     นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน

3.6     นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy)

3.7     นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

3.8     จริยธรรมธุรกิจ

หมวดที่ 4 การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

 

หมวดที่ 1 คณะกรรมการบริษัท และคณะอนุกรรมการ

1.1 คณะกรรมการบริษัท         

คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และแผนการรองรับภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของบริษัท รวมทั้งให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์ และจัดทำนโยบายที่สำคัญ เพื่อให้พนักงานยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรขึ้น อีกทั้ง สร้างความยั่งยืนและผลประโยชน์สูงสุดให้กับบริษัทอันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังมุ่งเน้นในการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

แนวปฏิบัติ

องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท

ข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้บริษัทมีคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย กรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกประธานกรรมการ และอาจเลือกรองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งอื่นที่เห็นเหมาะสมด้วยก็ได้ และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และกรรมการของบริษัทจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด

คณะกรรมการบริษัทของบริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการจำนวน 9 ท่าน โดยมีกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่ากับ 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และเป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 60 และต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 ท่านที่เป็นผู้บริหาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทจะคัดเลือกกรรมการอิสระและไม่เป็นผู้บริหารเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ

คุณสมบัติและนิยามของกรรมการอิสระและกรรมการ

บริษัท กำหนดนิยามกรรมการอิสระไว้ ซึ่งเข้มงวดกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

  • - ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม ทั้งนี้ นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ Nominee
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
  • - ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็น บิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุม ของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  • - ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ หรือผู้บริหาร ของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งและไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมหรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชีซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
  • - ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
  • - ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย
  • - ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

การสรรหากรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้การสรรหากรรมการบริษัทมีกระบวนการที่โปร่งใสและชัดเจน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหากรรมการทดแทนกรรมการที่ครบวาระหรือทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงด้วยเหตุอื่น เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ และนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติแต่งตั้ง โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะทำหน้าที่พิจารณาทบทวนโครงสร้าง องค์ประกอบที่เหมาะสมของคณะกรรมการบริษัท กำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ และทักษะที่จำเป็น ในกรณีที่มีการเสนอชื่อกรรมการรายเดิมจะต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการรายดังกล่าวที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้ได้กรรมการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม อันเป็นประโยชน์ต่อบริษัท นอกจากนี้การสรรหากรรมการบริษัทจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติหลากหลายของคณะกรรมการบริษัททั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ และคุณลักษณะเฉพาะด้าน ตลอดจนเพศ และอายุ ที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัท โดยจัดทำตารางความรู้ความชำนาญของกรรมการ (Skills Matrix) เพื่อกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เหมาะสม

การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท

วิธีการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นกรรมการบริษัทนั้นจะต้องผ่านคณะกรรมการการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน (Nomination and Remuneration Committee) และต้องผ่านขั้นตอนที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง มีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง
  2. ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลไป
  3. บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่พึงมีหรือพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่พึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้ผู้เป็นประธานออกเสียงชี้ขาด

การถอดถอนกรรมการ

  1. ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการจะต้องออกจากตำแหน่งอย่างน้อยจำนวนหนึ่งในสาม (1/3) โดยอัตรา ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกเป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดกับหนึ่งในสาม (1/3) กรรมการผู้ออกจากตำแหน่งไปนั้นอาจจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
  2. นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการอาจพ้นตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด (4) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก (5) ศาลมีคำสั่งให้ออก
  3. กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท กรรมการซึ่งลาออกจะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
  4. ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้คณะกรรมการบริษัทเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดเข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการบริษัทคราวต่อไป เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือน้อยกว่าสองเดือน บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนดังกล่าวจะอยู่ได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน มติของคณะกรรมการบริษัทต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่
  5. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียง

วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ

      คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี เมื่อครบกำหนดตามวาระ กรรมการอาจได้รับการพิจารณาเสนอชื่อต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทได้ใหม่

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

  • - กำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ แผนงานและงบประมาณประจำปีของบริษัท โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และสามารถจัดการอุปสรรคปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันเวลา 
  • - กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำทุกปี
  • - กำหนดให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม เพียงพอ และติดตามประสิทธิภาพของระบบควบคุมภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ โดยเปิดเผยความเพียงพอของการควบคุมภายในและรายงานสอบทานไว้ในรายงานประจำปี
  • - กำหนดให้มีนโยบายความเสี่ยงและกรอบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งติดตามประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยเปิดเผยความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยงไว้ในรายงานประจำปี
  • - พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดย่อยอย่างสม่ำเสมอ
  • - กำกับดูแลและส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จัดสรรทรัพยากรสำคัญ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน และสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย    
  • - กำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการและพัฒนาสารสนเทศ และมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ พร้อมทั้งมีการติดตามทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • - ดูแลให้มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และสะท้อนผลประกอบการและฐานะทางการเงิน ตามมาตรฐานทางการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ขององค์กรอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  • - กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหากรรมการและกรรมการผู้จัดการที่โปร่งใสและชัดเจน ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนและประเมินผลงานเป็นประจำทุกปี รวมทั้งติดตามดูแลให้มีกระบวนการเตรียมบุคลากรเพื่อทดแทนหรือสืบทอดตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
  • - จัดให้มีการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสนับสนุนให้มีการสื่อสารไปสู่ทุกคนในบริษัทให้ได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติ
  • - พิจารณากำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมการ และกรรมการผู้จัดการอย่างชัดเจน
  • - คณะกรรมการบริษัทอาจแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัทภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริษัทหรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรและภายในเวลาที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร และคณะกรรมการบริษัทอาจยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขอำนาจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวจะต้องกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน และต้องไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถอนุมัติรายการที่ตนหรือบุคคลอื่นที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดกับบริษัท
  • - กำกับดูแลให้คณะกรรมการบริษัทมีโครงสร้างและองค์ประกอบที่เหมาะสม
  • - ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินนโยบาย และแนวทางบริหารงานต่างๆ ของบริษัทที่กำหนดเอาไว้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • - พิจารณาและทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยเป็นอย่างน้อยปีละครั้ง
  • - แต่งตั้งเลขานุการบริษัท เพื่อรับผิดชอบดำเนินการในด้านต่างๆ ในนามของบริษัทหรือคณะกรรมการบริษัท เช่น ทะเบียนกรรมการ หนังสือเชิญประชุมกรรมการ และหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น
  • - รายงานการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งถือหลักทรัพย์ของบริษัท และรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ทุกครั้งที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 3 วันทำการหลังจากวันที่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ 
  • - เก็บรักษาข้อมูลภายในของบริษัทที่ล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น รวมถึงงดซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนการประกาศแจ้งข่าวงบการเงินอย่างน้อย 3 วัน 

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการ

  • - กำกับ ติดตาม และดูแลให้มั่นใจว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร
  • - มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้กรรมการบริษัทปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการ
  • - พิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทร่วมกับกรรมการผู้จัดการ และดูแลให้กรรมการบริษัทได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน และทันเวลาก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม  
  • - เป็นผู้นำของคณะกรรมการบริษัท และเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • - ่ประธานกรรมการ หรือ ผู้ที่ประธานกรรมการมอบหมาย มีหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยส่งหนังสือเชิญประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา พิจารณา และตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องต่างๆ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท 
  • - ดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย
  • - จัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเพียงพอ และส่งเสริมให้กรรมการบริษัททุกคนอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เป็นอิสระ และใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน
  • - สรุปมติที่ประชุมและสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน
  • - เป็นผู้นำในการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย โดยจัดสรรเวลาในการประชุมให้เหมาะสม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และดูแลให้มีการตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมและโปร่งใส
  • - เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับฝ่ายบริหาร และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการและฝ่ายจัดการตามนโยบายของบริษัท
  • - สนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทตามกฎหมาย และตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การประชุมคณะกรรมการบริษัท

บริษัทจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และตามความจำเป็น โดยจะกำหนดวันประชุมเป็นการล่วงหน้าตลอดทั้งปี โดยคำนึงถึงกรรมการที่สามารถเข้าร่วมได้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้เลขานุการบริษัทจะดำเนินการส่งหนังสือเชิญประชุม พร้อมระเบียบวาระการประชุม และเอกสารประกอบวาระต่างๆไปยังกรรมการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา พิจารณาและตัดสินใจอย่างเหมาะสมในวาระต่างๆ ของการประชุม ในการลงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จำเป็นต้องมีกรรมการอยู่ในการประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และกรรมการสามารถเสนอเรื่องเพิ่มเติมให้ที่ประชุมพิจารณาได้ ภายหลังการประชุมทุกครั้ง เลขานุการบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรโดยให้แล้วเสร็จในเวลาที่เหมาะสม และจัดเก็บรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทพร้อมให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

การแยกตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

บริษัทมีประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระ และเป็นคนละบุคคลกับกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล สามารถสอบทานการบริหารงานได้อย่างโปร่งใส และมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจนในการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลและการบริหารงานประจำ อีกทั้งเพื่อให้แต่ละฝ่ายอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานของบริษัทได้อย่างเต็มที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้กรรมการอิสระ และกรรมการบริษัทสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นไม่เกิน 5 บริษัท สำหรับการดำรงตำแหน่งใดๆที่บริษัทจดทะเบียนของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้กรรมการผู้จัดการมีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบริษัท ประเภทธุรกิจ และการดำรงตำแหน่ง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติ

ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนวทางในการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ และกรรมการผู้จัดการต่อคณะกรรมการบริษัท โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับเป้าหมายของบริษัท  และแนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในขนาดและอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน รวมทั้งขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ โดยค่าตอบแทนกรรมการ และกรรมการผู้จัดการจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ ทั้งนี้ค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนประจำรายเดือน เบี้ยประชุมต่อครั้งที่มีประชุม เงินโบนัส สำหรับกรรมการผู้จัดการ จะได้รับค่าตอบแทนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ได้แก่ ค่าตอบแทนประจำรายเดือน เงินโบนัส สวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิของพนักงานบริษัทพึงมี และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

การประเมินผลการปฏิบัติงาน

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี เพื่อ พิจารณาทบทวนผลการปฏิบัติงาน ปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรูปแบบเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงาน งบประมาณ และแผนงานประจำปีของบริษัท ทั้งนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ประเมินเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนและมาตรการจูงใจที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การปฐมนิเทศกรรมการใหม่ และการเสริมความรู้ให้กับกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้เลขานุการบริษัทจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ สำหรับกรรมการใหม่ เพื่อให้กรรมการใหม่ รับทราบบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบาย ข้อมูลธุรกิจ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจให้กับกรรมการทุกคน เพื่อเป็นการสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของกรรมการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการเสริมความรู้ให้กรรมการผู้บริหารอย่างสมํ่าเสมอ

นโยบายแผนการสืบทอดตำแหน่งและพัฒนาผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการบริษัทมอบหมายหน้าที่ให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนวางแผนและดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อสืบทอดตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการเพื่อเตรียมความพร้อมและให้เกิดมั่นใจว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่างลง หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้ บริษัทจะดำเนินการให้ผู้บริหาร ในระดับใกล้เคียงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งจนกว่าคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติต่อไป

การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย

บริษัทมีการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเกิดความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยในทิศทางเดียวกัน โดยมีการแต่งตั้งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย และกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบายของบริษัท นอกจากนั้น บริษัทย่อยมีหน้าที่ในการนำส่งผลการดำเนินงานให้กับบริษัท และผู้สอบบัญชีของบริษัทเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยด้วย

เลขานุการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งเลขานุการบริษัท ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดทำและเก็บรักษาเอกสารทะเบียนกรรมการ รายงานการมีส่วนได้เสีย และเอกสารสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆของคณะกรรมการบริษัทและบริษัท ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่กรรมการและบริษัทในการปฏิบัติตนและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นให้รับทราบสิทธิต่างๆของผู้ถือหุ้น และข่าวสารของบริษัท

1.2 คณะอนุกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณากรรมการที่มีคุณสมบัติ และมีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมเป็นคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยคณะกรรมการบริษัทในการปฏิบัติงานเรื่องสำคัญในแต่ละด้านได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ ดังนี้

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเป็นกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน โดยกรรมการทั้ง 3 ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบมาหลายปี ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบจะถูกจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้บริษัทจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบในจากภายนอกบริษัทขึ้นเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัทได้อย่างอิสระ และใกล้ชิดมากขึ้น

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบคณะกรรมการตรวจสอบ

  • - สอบทานให้บริษัท มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ โดยการประสานงานกับผู้สอบบัญชีและผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดทำรายงานทางการเงินทั้งรายไตรมาสและประจำปี คณะกรรมการตรวจสอบอาจเสนอแนะให้ผู้สอบบัญชีสอบทานหรือตรวจสอบรายการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญในระหว่างการตรวจสอบบัญชีของบริษัทก็ได้
  • - สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) การตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล
  • - สอบทานให้บริษัท ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  • - พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง เลิกจ้าง และพิจารณาเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีภายนอกของบริษัท โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอของทรัพยากรและปริมาณงานตรวจสอบของสำนักงานสอบบัญชีนั้น รวมถึงประสบการณ์ของบุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัท
  • - พิจารณา คัดเลือก แต่งตั้ง และเลิกจ้างผู้ตรวจสอบภายใน
  • - พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องครบถ้วน
  • - จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
    2. ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ
    3. ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    4. ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    5. ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    6. จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    7. ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee Charter)
    8. รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  • - สอบทานมาตรการและการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • - กำกับดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท
  • - พิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน
  • - ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมาย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยคัดเลือกกรรมการของบริษัทที่มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารไม่น้อยกว่า 3 ท่าน ซึ่งมีอย่างน้อย 1 ท่านต้องเป็นกรรมการอิสระและเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะถูกจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

  • - กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และกำหนดกระบวนการสรรหากรรมการบริษัทเพื่อแทนกรรมการบริษัทที่ครบวาระ โดยพิจารณาสรรหากรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติหลากหลายทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับบริษัท
  • - พิจารณาสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัททดแทนกรรมการบริษัทที่ครบวาระหรือกรณีอื่นๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทและ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ
  • - พิจารณาทบทวนและเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริษัทในเรื่องโครงสร้าง หน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งแนวปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย
  • - พิจารณาทบทวนและเสนอแนะหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับกฎบัตร (Charter) ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยชุดต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ
  • - จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พร้อมทั้งรายชื่อผู้ที่เหมาะสม เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา
  • - เสนอนโยบายและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดขอบของกรรมการ โดยให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัท และผลการประเมินการปฏิบัติงาน เพื่อจูงใจ และรักษาบุคคลที่มีศักยภาพ และความสามารถ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • - ประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ เพื่อกำหนดค่าตอบแทนก่อนนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี
  • - พิจารณาทบทวน ศึกษา ติดตามความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในเรื่องผลตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งการเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนภายนอกอื่นๆ ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการบริหารงานให้เจริญก้าวหน้า
  • - รายงานความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการบริษัททุกครั้งหลังมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
  • - ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนและรายงานผลการประเมินให้คณะกรรมการบริษัททราบ
  • - ปฏิบัติหน้าที่ในเรืองอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

 

หมวดที่ 2 ฝ่ายบริหาร

ผู้บริหาร หมายถึง กรรมการผู้จัดการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรกนับจากกรรมการผู้จัดการลงมา รวมทั้งผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย โดยนิยามดังกล่าวเป็นไปตามคำนิยามของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย

บริษัทประกอบด้วยผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถและเชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ ดังนี้

แนวปฏิบัติ

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ

  • - มีอำนาจควบคุมการบริหารงานของบริษัท ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ
  • - พิจารณาการจัดสรรงบประมาณประจำปีที่ฝ่ายบริหารจัดทำเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงาน
  • - พิจารณาประเมินการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกบริษัท
  • - มีอำนาจสั่งการ ออกระเบียบ ประกาศ บันทึก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบายหรือผลประโยชน์ของบริษัท
  • - มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อ และใช้จ่ายเงินในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามปกติของบริษัท ซึ่งรวมถึง การอนุมัติการจัดซื้อสินค้าวัตถุดิบและบริการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และรายจ่ายลงทุนให้เป็นตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ภายในวงเงินที่ได้รับจากการมอบอำนาจ
  • - ในการพิจารณาจัดซื้อที่ดิน ให้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • - พิจารณาการนำสิทธิและทรัพย์สินของบริษัท ไปก่อภาระผูกพันใดกับบุคคล บริษัท ห้างร้าน หรือสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ
  • - พิจารณาผลกำไรและขาดทุนของบริษัทประกอบการเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหรือเงินปันผลประจำปี เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ
  • - ดำเนินการใดๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท ตามการให้อำนาจจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการบริษัท

      ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการอาจมอบอำนาจช่วงให้พนักงานระดับบริหารของบริษัท มีอำนาจอนุมัติทางการเงินเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องตามที่กรรมการผู้จัดการพิจารณาเห็นสมควร อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการดังกล่าวข้างต้น จะไม่รวมถึงอำนาจที่ทำให้กรรมการผู้จัดการสามารถอนุมัติรายการที่ตน หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใด (ตามข้อบังคับบริษัทและตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด) ทำกับบริษัท ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามปกติธุรกิจที่มีการกำหนดขอบเขตชัดเจนซึ่งระบุไว้ในเรื่องนโยบายในการทำรายการระหว่างกันในอนาคต

 

หมวดที่ 3 นโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล

3.1 นโยบายสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมบริษัท ตระหนักถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัท โดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้น และมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญของบริษัท คณะกรรมการบริษัทจึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น

แนวปฏิบัติ

        ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัท ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิต่างๆ ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ได้แก่

  • - สิทธิในการได้รับใบหุ้นและสิทธิในการโอนหุ้น
  • - สิทธิในการได้รับสารสนเทศที่เพียงพอ ทันเวลา และเหมาะสมต่อการตัดสินใจ
  • - สิทธิการรับซื้อหุ้นคืนโดยบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน
  • - สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและการออกเสียงลงคะแนน
  • - สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการ
  • - สิทธิในส่วนแบ่งผลกำไร/เงินปันผล                                                        การประชุมผู้ถือหุ้น
  • คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการดูแลผลประโยชน์ของตน รวมถึงการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง เพียงพอ และครบถ้วน นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการเสนอระเบียบวาระ เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการ และเสนอคำถามล่วงหน้า ซึ่งบริษัทได้ระบุถึงขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาที่ชัดเจน และโปร่งใส และได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นยังสามารถร่วมพิจารณาตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น และสอบถามตามระเบียบวาระการประชุม ผ่านการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงเรื่องสำคัญๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  • คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุม โดยคำนึงถึงความสะดวกในการร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น และนักลงทุนสถาบัน และคณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยวาระการประชุมที่มีข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของคณะกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งจัดให้มีหนังสือมอบฉันทะไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วยตนเองได้ ให้ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 14 วัน พร้อมทั้งนำเสนอไว้บนเว็บไซต์บริษัทล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันประชุม และได้ประกาศลงหนังสือพิมพ์รายวัน ก่อนวันประชุม และติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า
  • การเข้าประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และระบบคอมพิวเตอร์ที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อรองรับการลงทะเบียน อีกทั้งใช้ระบบบาร์โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวก และรวดเร็วแก่ผู้มาลงทะเบียน นอกจากนี้บริษัทเปิดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 2 ชั่วโมงและต่อเนื่องจนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระ หรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้โดยใช้หนังสือมอบฉันทะ แบบหนึ่งแบบใดที่ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม ทั้งนี้บริษัทได้จัดหนังสือมอบฉันทะในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนด ทิศทางการออกเสียงลงคะแนนได้ตามแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมทั้งจัดให้มีอากรแสตมป์ไว้บริการให้ผู้ถือหุ้นสำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากประธานในที่ประชุม เปิดการประชุมแล้ว สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวาระที่อยู่ ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติและนับเป็นองค์ประชุม ตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุมเป็นต้นไป เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
  • ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น คอยดูแลให้การประชุมเป็นไปตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย และจัดสรรเวลาสำหรับแต่ละวาระการประชุมที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุมอย่างเหมาะสม เมื่อเริ่มการประชุมทุกครั้ง ประธานกรรมการจะชี้แจงจำนวนและสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและของผู้ถือหุ้นที่มอบฉันทะ วิธีการลงคะแนนและนับคะแนน โดยบริษัทได้แสดงขั้นตอนการนับคะแนน และแสดงการสรุปผลคะแนนทุกขั้นตอนอย่างชัดเจนในห้องประชุม ในการลงคะแนนเสียง บริษัทใช้ระบบบาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจนับคะแนนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทได้เก็บบัตรลงคะแนนเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นคัดค้าน หรืองดออกเสียง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีในวาระการเลือกตั้งกรรมการ บริษัทได้จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ บริษัทมีผู้เข้าร่วมตรวจนับและยืนยันความถูกต้องของคะแนนเสียง เพื่อให้การนับคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท สำหรับผลการตรวจนับคะแนนในแต่ละวาระ บริษัทได้เปิดเผยผลการลงคะแนนในแต่ละวาระของผู้ถือหุ้นที่ลงมติ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย/คัดค้าน งดออกเสียง ผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม
  • ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท ดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นตามลำดับวาระที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุม และมิได้มีการเพิ่มวาระในที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณาวาระต่างๆ อย่างเพียงพอและเหมาะสม ในการประชุมคณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสอบถามคำถามเพิ่มเติม โดยมีประธานกรรมการ ประธานกรรมการชุดย่อย กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูงด้านบัญชีการเงิน ร่วมตอบคำถาม อย่างไรก็ตามในการตอบคำถามคณะกรรมการ ได้ยึดถือความเท่าเทียมของการให้ข้อมูลสารสนเทศเป็นสำคัญ
  • - ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้ถือหุ้น เจ้าหน้าที่จะเก็บบัตรลงคะแนนเสียงสำหรับทุกวาระเพื่อเป็นหลักฐาน และคณะกรรมการบริษัท ได้มอบหมายให้เลขานุการบริษัท เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุมอย่างถูกต้องครบถ้วน และเผยแพร่รายงานการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกรายรับทราบผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้บริษัทได้จัดส่งรายงานการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และกระทรวงพาณิชย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเผยแพร่ภาพและเสียงของการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้

 

3.2 นโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการบริษัทตระหนักและเคารพสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า ตลอดจน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

แนวปฏิบัติ

บริษัทได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจนและเป็นธรรม ดังนี้

  • - ผู้ถือหุ้น บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เชื่อถือได้ และแน่วแน่ในการสร้างงานสร้างกิจการให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเคารพในสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดให้มีช่องทางในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยติดต่อผ่านเว็บไซต์และนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
  • - พนักงาน บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของพนักงาน โดยถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัท บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกันบนหลักสิทธิมนุษยชนตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการกำหนดค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์อื่นที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้มีความมั่นคงและเป็นผลประโยชน์ระยะยาวให้กับพนักงาน นอกจากนี้ บริษัทสนับสนุนให้พนักงานมีความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างเท่าเทียมกัน โดยการจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานและความปลอดภัย
  • - ลูกค้า บริษัทมุ่งเน้นสินค้าให้มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งด้านคุณภาพ ราคา และความปลอดภัยเป็นสำคัญ อีกทั้งบริษัทจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะจากลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในสินค้ามากที่สุด รวมทั้งจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนมาปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทตระหนักถึงการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า และจะไม่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์โดยทางมิชอบ
  • - เจ้าหนี้ บริษัทปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าที่ตกลงกันและพันธะทางการเงินไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขค้าประกัน การบริหารเงินทุน และการชำระหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้ มุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับเจ้าหนี้ และให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ตลอดจนไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต ปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันจะทำให้เจ้าหนี้เกิดความเสียหาย
  • - หน่วยราชการ บริษัทยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ในการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และยึดถือในการปฏิบัติกับภาครัฐ หรือหน่วยราชการตามหลักกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  • - คู่ค้า บริษัทปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีการสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีต่อ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและบริการให้ได้มาตรฐาน โดยบริษัทมีวิธีการคัดเลือกคู่ค้าที่มีความชัดเจน โปร่งใส ยุติธรรม ตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท
  • คู่แข่งทางการค้า บริษัทได้ปฏิบัติต่อคู่แข่งภายใต้กรอบการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม ไม่ล่วงละเมิดความลับ หรือแสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีทุจริต และไม่ทำลายชื่อเสียงและความสัมพันธ์กับคู่แข่งทางการค้า รวมถึงไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือคู่แข่งทางการค้า
  • ชุมชน สังคม บริษัทมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและการพัฒนาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการยึดมั่นในการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งบริษัท นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะยึดมั่นปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี เคารพกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และสังคม
  • สิ่งแวดล้อม บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบาย คุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พนักงานพึงใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต และมีการควบคุมดูแลการบริหารจัดการการกำจัดของเสีย ทั้งจากกระบวนการผลิตและการใช้งานทั่วไป รวมถึงสิ่งปนเปื้อนต่างๆ สู่สภาพแวดล้อมภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO14001

3.3 นโยบายการเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทจึงมีนโยบายที่จะดูแลการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โดยยืดถือตามแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่ในการสื่อสารกับนักลงทุน เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดเผยสารสนเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา ตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี แบบ 56-1 และรายงานความยั่งยืน เพื่อสื่อสาร นโยบาย แนวทางการบริหารจัดการ รวมถึงผลการดำเนินงาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ประกอบการเปิดเผยงบการเงิน เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละไตรมาส ทั้งนี้ ยังมอบหมายฝ่ายจัดการในการติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้  และฐานะทางการเงินของบริษัท ตลอดจนทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการสอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือตามมาตรฐาน นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้ประธานบริหาร และ/หรือกรรมการผู้จัดการ และ/หรือผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ สามารถให้การสัมภาษณ์หรือสื่อสารข้อมูลกับสื่อสารมวลชน โดยมีขอบเขตในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท กิจการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลทั่วๆไป

 

3.4 นโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงได้กำหนดให้มีนโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล และมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัท

แนวปฏิบัติ

การบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแล และสนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงมีการปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงในแต่ละฝ่าย เพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทั้งมาจากปัจจัยภายในและภายนอกของบริษัทที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ และทำการติดตามควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานไปยังคณะผู้บริหารซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการทันทีในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงมากกว่าระดับปกติที่ยอมรับได้เพื่อเร่งพิจารณาป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการจัดตั้งคณะดังกล่าวจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเห็นว่าการบริหารความเสี่ยงที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการอยู่ข้างต้นมีความเหมาะสมและเพียงพอ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้ชะลอการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงไปก่อน

ระบบ การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบควบคุมภายในที่ดี และเพียงพอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ดังนั้น บริษัทได้มอบหมายให้บริษัทภายนอกเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่สอบทานและติดตามผลการควบคุมภายในเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ และรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องระบบการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ตรงตามมาตรฐานสากล ที่บริษัทผ่านการรับรอง ISO 9001, GMP และ ISO 14001

3.5 นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน

คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อป้องกันการเปิดเผยและป้องกันการทำรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมถึงการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัท แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงห้ามไม่ให้กรรมการประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท และหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท หรือในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทจะมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายการดังกล่าวว่าเป็นรายการที่เป็นไปตามลักษณะธุรกิจทั่วไปและเป็นไปในราคาที่ยุติธรรม และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่มีส่วนได้เสียในรายการนั้นจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้บริษัทมีการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีนโยบายกำกับดูแลไม่ให้ผู้บริหารของบริษัทนำข้อมูลภายในของบริษัทไปเปิดเผยโดยมิชอบ หรือใช้ผลประโยชน์ส่วนตน กรรมการและผู้บริหาร มีหน้าที่ต้องรายงานการซื้อขายและการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัททุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง และผู้บริหารที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญจะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือนก่อนที่งบการเงินจะเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมทั้งกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่เกี่ยวข้องส่งให้เลขานุการบริษัท เพื่อจัดเก็บ รวบรวม และใช้ในการตรวจสอบกำกับดูแลด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานไว้ในคู่มือจริยธรรม นโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน

3.6 นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy)

คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักการบรรษัทภิบาลที่ดี คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับเป็นแนวทางให้กับ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน นำไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท กล่าวคือ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ห้ามดำเนินการเกี่ยวข้องกับการให้หรือรับสินบนทุกประเภทไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ในการติดต่องานกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการให้หรือรับของกำนัล การเลี้ยงรับรอง และค่าใช่จ่ายอื่นๆให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด

นอกจากนี้ พนักงานบริษัทจะไม่พึงละเลยหรือ เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยพนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ เมื่อบริษัทตรวจสอบพบการกระทำทุจริต คอร์รัปชัน เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของบริษัทจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

แนวปฏิบัติ

  1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานของบริษัททุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และจรรยาบรรณของบริษัทอย่างเคร่งครัด
  2. พนักงานบริษัท ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ หากมีข้อสงสัย หรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัทผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทกำหนดไว้
  3. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเบาะแส หรือหลักฐานเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งข้อร้องเรียน และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
  4. ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันภายใต้ชื่อของบริษัทถือเป็นการกระทำผิด ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

3.7 นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัท เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงในระยะยาวให้กับบริษัท และจะนำไปสู่การเติบโตและมั่นคงของประเทศขึ้นได้ คณะกรรมการบริษัท จึงมีนโยบายที่จะปฏิบัติตนเพื่อเป็นพลเมืองที่ดี ยึดมั่น และรักษา กฎระเบียบอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในการดำเนินงานของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโปร่งใส โดยรายงานความยั่งยืนของบริษัทได้ใช้แนวทางตามกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล GRI Sustainability Reporting Standards (GRI Standards) เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลมีความเหมาะสม

3.8 จริยธรรมธุรกิจ

คณะกรรมการบริษัท มุ่งหวังให้ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติงานภายใต้กรอบจริยธรรม และจรรณยาบรรณอันดี ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีคู่มือจริยธรรมธุรกิจ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ

แนวปฏิบัติ            

นโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญต่อการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทจะยึดมั่นในการปฏิบัติต่อพนักงาน บริษัทย่อย และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทอย่างเป็นธรรม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ อายุ พื้นฐานการศึกษา และการให้สิทธิเท่าเทียมต่อคนพิการ รวมทั้งการรักษาสิทธิมนุษยชนของพนักงานตามที่กฎหมายแรงงานและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม

นโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักและเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่ละเมิดหรือไม่สนับสนุนการดำเนินการใดๆที่มีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้ พนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทให้พ้นจากการนำไปใช้ หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งต้องเคารพและไม่ละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยมีนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

-     รักษาและคุ้มครองสิทธิทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วยความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ต่างๆ การนำข้อมูลเหล่านี้ อันเป็นความลับของบริษัท คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เผยแพร่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำผิดนโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจต้องโทษทั้งทางแพ่งและอาญา

-     รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรืออาจนำไปสู่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการกระทำที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท หรือของบุคคลอื่น

 

หมวดที่ 4 การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีมาตรการในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ พฤติกรรมที่อาจเป็นการกระทำทุจริตของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ หรือกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่ได้ระบุไว้ในนโยบายต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน (Anti-corruption Policy) โดยบริษัท ยึดมั่นว่าจะรับฟังทุกข้อร้องเรียนอย่างเสมอภาค โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับผู้ร้องเรียนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วยหลักปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

แนวปฏิบัติ

วิธีการร้องเรียน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ชื่อ และนามสกุล ที่อยู่หรือที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์และ E-mail ของผู้ร้องเรียน

2. ชื่อ และนามสกุล ผู้ถูกร้องเรียน และที่อยู่ของผู้ถูกร้องเรียน (ถ้ามี)

3. วัน เดือน ปี ที่ร้องเรียน

4. วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ผู้ร้องเรียนพบเห็นพฤติกรรม หรือเหตุการณ์

5. ข้อเท็จจริงและการกระทำของผู้ถูกร้องเรียนที่ผู้ร้องเรียนเห็นว่าอยู่ในขอบเขตของเรื่องร้องเรียน

6. เอกสารหลักฐานประกอบการร้องเรียน (ถ้ามี)

7. ดำเนินการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ดังนี้

  • - แจ้งผ่านช่องทางกล่องแสดงความคิดเห็นของบริษัท ณ จุดบริเวณทางเดินเข้า-ออก ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และโรงงาน
  • - แจ้งผ่านช่องทางอีเมล์ของ “ฝ่ายตรวจสอบภายในมาที่ อีเมล์: internalaudit@sherwood.co.th

   หรือช่องทางอีเมล์ของ “ฝ่ายเลขานุการบริษัทมาที่ อีเมล์: companysecretary@sherwood.co.th

  • - จดหมายปิดผนึก และจ่าหน้าซองถึง “ฝ่ายตรวจสอบภายในหรือ ฝ่ายเลขานุการบริษัทมายัง

   ที่อยู่: บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

  1065 ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. 10250

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Corporate Governance Policy

วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมหลักขององค์กร

วิสัยทัศน์ (Vision)

มุ่งมั่นสู่การเป็นองค์กรชั้นนำที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในระดับสากล

พันธกิจ (Mission)

ใส่ใจในการสร้างสรรค์สินค้าอย่างพิถีพิถันถึงคุณภาพสูงสุด เพื่อนำองค์กรสู่ความเป็นผู้นำ และบรรลุความพึงพอใจสูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

 

ABC Principles of Leadership

A : AGILITY   เร็ว: ความรวดเร็ว และความถูกต้องในการทำงาน ทันต่อตลาด เพราะเราอยู่ในธุรกิจที่เป็น Fast Moving

B : BOLD        กล้า: กล้าที่จะคิด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะพูด รวมถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะยอมรับความแตกต่าง เพื่อผลลัพธ์ และเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

C : CARE        ใส่ใจ: คำนึงถึงผู้บริโภคและลูกค้า รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการทำงานทั้งตนเอง ส่วนรวม และสังคม

 

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

      คณะกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่าภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทตระหนัก และมุ่งมั่นที่จะบริหารงานโดยยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารกำหนดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่จะนำองค์กรให้เติบโตด้วยความโปร่งใส และมีส่วนรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยแบ่งเป็นหมวด ดังนี้

หมวดที่ 1 คณะกรรมการบริษัท และคณะอนุกรรมการ

1.1    คณะกรรมการบริษัท

1.2     คณะอนุกรรมการ

หมวดที่ 2 ฝ่ายบริหาร

หมวดที่ 3 หลักการและนโยบายของบริษัทนโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล

3.1     นโยบายสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น

3.2     นโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสีย

3.3     นโยบายการเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส

3.4     นโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน

3.5     นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน

3.6     นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy)

3.7     นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

3.8     จริยธรรมธุรกิจ

หมวดที่ 4 การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

 

หมวดที่ 1 คณะกรรมการบริษัท และคณะอนุกรรมการ

1.1 คณะกรรมการบริษัท         

คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และแผนการรองรับภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของบริษัท รวมทั้งให้ความเห็นชอบในกลยุทธ์ และจัดทำนโยบายที่สำคัญ เพื่อให้พนักงานยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรขึ้น อีกทั้ง สร้างความยั่งยืนและผลประโยชน์สูงสุดให้กับบริษัทอันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในฐานะตัวแทนของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังมุ่งเน้นในการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

แนวปฏิบัติ

องค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัท

ข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้บริษัทมีคณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย กรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกประธานกรรมการ และอาจเลือกรองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งอื่นที่เห็นเหมาะสมด้วยก็ได้ และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และกรรมการของบริษัทจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด

คณะกรรมการบริษัทของบริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการจำนวน 9 ท่าน โดยมีกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่ากับ 1 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และเป็นไปตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 60 และต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 ท่านที่เป็นผู้บริหาร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างฝ่ายบริหารและคณะกรรมการบริษัท และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทจะคัดเลือกกรรมการอิสระและไม่เป็นผู้บริหารเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ

คุณสมบัติและนิยามของกรรมการอิสระและกรรมการ

บริษัท กำหนดนิยามกรรมการอิสระไว้ ซึ่งเข้มงวดกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

  • - ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม ทั้งนี้ นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ Nominee
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
  • - ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็น บิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุม ของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  • - ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ หรือผู้บริหาร ของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งและไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมหรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชีซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
  • - ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุม หรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
  • - ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
  • - ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่น ซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อย
  • - ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

การสรรหากรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลให้การสรรหากรรมการบริษัทมีกระบวนการที่โปร่งใสและชัดเจน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ทำหน้าที่สรรหากรรมการทดแทนกรรมการที่ครบวาระหรือทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงด้วยเหตุอื่น เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ และนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติแต่งตั้ง โดยคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะทำหน้าที่พิจารณาทบทวนโครงสร้าง องค์ประกอบที่เหมาะสมของคณะกรรมการบริษัท กำหนดหลักเกณฑ์ในการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติ และทักษะที่จำเป็น ในกรณีที่มีการเสนอชื่อกรรมการรายเดิมจะต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมและผลการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการรายดังกล่าวที่ผ่านมาด้วย เพื่อให้ได้กรรมการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม อันเป็นประโยชน์ต่อบริษัท นอกจากนี้การสรรหากรรมการบริษัทจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติหลากหลายของคณะกรรมการบริษัททั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ และคุณลักษณะเฉพาะด้าน ตลอดจนเพศ และอายุ ที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัท โดยจัดทำตารางความรู้ความชำนาญของกรรมการ (Skills Matrix) เพื่อกำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่เหมาะสม

การแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท

วิธีการคัดเลือกบุคคลที่จะเป็นกรรมการบริษัทนั้นจะต้องผ่านคณะกรรมการการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน (Nomination and Remuneration Committee) และต้องผ่านขั้นตอนที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริษัทตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง มีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง
  2. ให้ผู้ถือหุ้นออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคลไป
  3. บุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่พึงมีหรือพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากันเกินจำนวนกรรมการที่พึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ให้ผู้เป็นประธานออกเสียงชี้ขาด

การถอดถอนกรรมการ

  1. ในการประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการจะต้องออกจากตำแหน่งอย่างน้อยจำนวนหนึ่งในสาม (1/3) โดยอัตรา ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกเป็นสามส่วนไม่ได้ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้เคียงที่สุดกับหนึ่งในสาม (1/3) กรรมการผู้ออกจากตำแหน่งไปนั้นอาจจะเลือกเข้ารับตำแหน่งอีกก็ได้
  2. นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการอาจพ้นตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด (4) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติให้ออก (5) ศาลมีคำสั่งให้ออก
  3. กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท กรรมการซึ่งลาออกจะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
  4. ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้คณะกรรมการบริษัทเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดเข้าเป็นกรรมการแทนในการประชุมคณะกรรมการบริษัทคราวต่อไป เว้นแต่วาระของกรรมการเหลือน้อยกว่าสองเดือน บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนดังกล่าวจะอยู่ได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการที่ตนแทน มติของคณะกรรมการบริษัทต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการที่ยังเหลืออยู่
  5. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ์ออกเสียง

วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ

      คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี เมื่อครบกำหนดตามวาระ กรรมการอาจได้รับการพิจารณาเสนอชื่อต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทได้ใหม่

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

  • - กำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ แผนงานและงบประมาณประจำปีของบริษัท โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานด้านต่างๆ ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และสามารถจัดการอุปสรรคปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันเวลา 
  • - กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมีการทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำทุกปี
  • - กำหนดให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม เพียงพอ และติดตามประสิทธิภาพของระบบควบคุมภายในให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ โดยเปิดเผยความเพียงพอของการควบคุมภายในและรายงานสอบทานไว้ในรายงานประจำปี
  • - กำหนดให้มีนโยบายความเสี่ยงและกรอบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งติดตามประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ โดยเปิดเผยความเพียงพอของระบบการบริหารความเสี่ยงไว้ในรายงานประจำปี
  • - พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามความเหมาะสมและความจำเป็น โดยมีการติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดย่อยอย่างสม่ำเสมอ
  • - กำกับดูแลและส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จัดสรรทรัพยากรสำคัญ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน และสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย    
  • - กำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการและพัฒนาสารสนเทศ และมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ พร้อมทั้งมีการติดตามทบทวนและปรับปรุงให้สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • - ดูแลให้มีการจัดทำและเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา และสะท้อนผลประกอบการและฐานะทางการเงิน ตามมาตรฐานทางการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ขององค์กรอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  • - กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหากรรมการและกรรมการผู้จัดการที่โปร่งใสและชัดเจน ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนและประเมินผลงานเป็นประจำทุกปี รวมทั้งติดตามดูแลให้มีกระบวนการเตรียมบุคลากรเพื่อทดแทนหรือสืบทอดตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
  • - จัดให้มีการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสนับสนุนให้มีการสื่อสารไปสู่ทุกคนในบริษัทให้ได้รับทราบและยึดถือปฏิบัติ
  • - พิจารณากำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของประธานคณะกรรมการ และกรรมการผู้จัดการอย่างชัดเจน
  • - คณะกรรมการบริษัทอาจแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัทภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริษัทหรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรและภายในเวลาที่คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร และคณะกรรมการบริษัทอาจยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขอำนาจดังกล่าวได้ ทั้งนี้ การมอบอำนาจดังกล่าวจะต้องกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน และต้องไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจที่ทำให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถอนุมัติรายการที่ตนหรือบุคคลอื่นที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดกับบริษัท
  • - กำกับดูแลให้คณะกรรมการบริษัทมีโครงสร้างและองค์ประกอบที่เหมาะสม
  • - ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินนโยบาย และแนวทางบริหารงานต่างๆ ของบริษัทที่กำหนดเอาไว้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • - พิจารณาและทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อยเป็นอย่างน้อยปีละครั้ง
  • - แต่งตั้งเลขานุการบริษัท เพื่อรับผิดชอบดำเนินการในด้านต่างๆ ในนามของบริษัทหรือคณะกรรมการบริษัท เช่น ทะเบียนกรรมการ หนังสือเชิญประชุมกรรมการ และหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น
  • - รายงานการถือหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งถือหลักทรัพย์ของบริษัท และรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ทุกครั้งที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 3 วันทำการหลังจากวันที่ซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ 
  • - เก็บรักษาข้อมูลภายในของบริษัทที่ล่วงรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น รวมถึงงดซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนการประกาศแจ้งข่าวงบการเงินอย่างน้อย 3 วัน 

บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการ

  • - กำกับ ติดตาม และดูแลให้มั่นใจว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร
  • - มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้กรรมการบริษัทปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการ
  • - พิจารณากำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทร่วมกับกรรมการผู้จัดการ และดูแลให้กรรมการบริษัทได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน และทันเวลาก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม  
  • - เป็นผู้นำของคณะกรรมการบริษัท และเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • - ่ประธานกรรมการ หรือ ผู้ที่ประธานกรรมการมอบหมาย มีหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยส่งหนังสือเชิญประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม เพื่อให้กรรมการบริษัทมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา พิจารณา และตัดสินใจอย่างถูกต้องในเรื่องต่างๆ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท 
  • - ดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย
  • - จัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเพียงพอ และส่งเสริมให้กรรมการบริษัททุกคนอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เป็นอิสระ และใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน
  • - สรุปมติที่ประชุมและสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน
  • - เป็นผู้นำในการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย โดยจัดสรรเวลาในการประชุมให้เหมาะสม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และดูแลให้มีการตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมและโปร่งใส
  • - เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะกรรมการบริษัทกับฝ่ายบริหาร และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการและฝ่ายจัดการตามนโยบายของบริษัท
  • - สนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทตามกฎหมาย และตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

การประชุมคณะกรรมการบริษัท

บริษัทจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และตามความจำเป็น โดยจะกำหนดวันประชุมเป็นการล่วงหน้าตลอดทั้งปี โดยคำนึงถึงกรรมการที่สามารถเข้าร่วมได้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทั้งนี้เลขานุการบริษัทจะดำเนินการส่งหนังสือเชิญประชุม พร้อมระเบียบวาระการประชุม และเอกสารประกอบวาระต่างๆไปยังกรรมการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการประชุม เพื่อให้กรรมการมีเวลาเพียงพอที่จะศึกษา พิจารณาและตัดสินใจอย่างเหมาะสมในวาระต่างๆ ของการประชุม ในการลงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จำเป็นต้องมีกรรมการอยู่ในการประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด และกรรมการสามารถเสนอเรื่องเพิ่มเติมให้ที่ประชุมพิจารณาได้ ภายหลังการประชุมทุกครั้ง เลขานุการบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรโดยให้แล้วเสร็จในเวลาที่เหมาะสม และจัดเก็บรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทพร้อมให้คณะกรรมการบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้

การแยกตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

บริษัทมีประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระ และเป็นคนละบุคคลกับกรรมการผู้จัดการ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล สามารถสอบทานการบริหารงานได้อย่างโปร่งใส และมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ออกจากกันอย่างชัดเจนในการกำหนดนโยบายการกำกับดูแลและการบริหารงานประจำ อีกทั้งเพื่อให้แต่ละฝ่ายอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานของบริษัทได้อย่างเต็มที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของกรรมการและกรรมการผู้จัดการ

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้กรรมการอิสระ และกรรมการบริษัทสามารถดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่นไม่เกิน 5 บริษัท สำหรับการดำรงตำแหน่งใดๆที่บริษัทจดทะเบียนของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้กรรมการผู้จัดการมีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบริษัท ประเภทธุรกิจ และการดำรงตำแหน่ง เพื่อให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติ

ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาเสนอแนวทางในการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ และกรรมการผู้จัดการต่อคณะกรรมการบริษัท โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานเทียบเคียงกับเป้าหมายของบริษัท  และแนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในขนาดและอุตสาหกรรมใกล้เคียงกัน รวมทั้งขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ โดยค่าตอบแทนกรรมการ และกรรมการผู้จัดการจะต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ ทั้งนี้ค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนประจำรายเดือน เบี้ยประชุมต่อครั้งที่มีประชุม เงินโบนัส สำหรับกรรมการผู้จัดการ จะได้รับค่าตอบแทนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ได้แก่ ค่าตอบแทนประจำรายเดือน เงินโบนัส สวัสดิการต่างๆ ตามสิทธิของพนักงานบริษัทพึงมี และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

การประเมินผลการปฏิบัติงาน

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี เพื่อ พิจารณาทบทวนผลการปฏิบัติงาน ปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรูปแบบเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงาน งบประมาณ และแผนงานประจำปีของบริษัท ทั้งนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้ประเมินเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนและมาตรการจูงใจที่เหมาะสมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การปฐมนิเทศกรรมการใหม่ และการเสริมความรู้ให้กับกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้เลขานุการบริษัทจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ สำหรับกรรมการใหม่ เพื่อให้กรรมการใหม่ รับทราบบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบาย ข้อมูลธุรกิจ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจให้กับกรรมการทุกคน เพื่อเป็นการสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของกรรมการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการเสริมความรู้ให้กรรมการผู้บริหารอย่างสมํ่าเสมอ

นโยบายแผนการสืบทอดตำแหน่งและพัฒนาผู้บริหารระดับสูง

คณะกรรมการบริษัทมอบหมายหน้าที่ให้คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนวางแผนและดำเนินการสรรหาบุคคลเพื่อสืบทอดตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการเพื่อเตรียมความพร้อมและให้เกิดมั่นใจว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่างลง หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้ บริษัทจะดำเนินการให้ผู้บริหาร ในระดับใกล้เคียงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งจนกว่าคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติต่อไป

การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย

บริษัทมีการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและเกิดความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยในทิศทางเดียวกัน โดยมีการแต่งตั้งกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย และกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบายของบริษัท นอกจากนั้น บริษัทย่อยมีหน้าที่ในการนำส่งผลการดำเนินงานให้กับบริษัท และผู้สอบบัญชีของบริษัทเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทย่อยด้วย

เลขานุการบริษัท

คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งเลขานุการบริษัท ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดทำและเก็บรักษาเอกสารทะเบียนกรรมการ รายงานการมีส่วนได้เสีย และเอกสารสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และช่วยดำเนินกิจกรรมต่างๆของคณะกรรมการบริษัทและบริษัท ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่กรรมการและบริษัทในการปฏิบัติตนและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นให้รับทราบสิทธิต่างๆของผู้ถือหุ้น และข่าวสารของบริษัท

1.2 คณะอนุกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณากรรมการที่มีคุณสมบัติ และมีความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมเป็นคณะกรรมการชุดย่อย เพื่อช่วยคณะกรรมการบริษัทในการปฏิบัติงานเรื่องสำคัญในแต่ละด้านได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 2 คณะ ดังนี้

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเป็นกรรมการอิสระจำนวน 3 ท่าน โดยกรรมการทั้ง 3 ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบมาหลายปี ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบจะถูกจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้บริษัทจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบในจากภายนอกบริษัทขึ้นเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัทได้อย่างอิสระ และใกล้ชิดมากขึ้น

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบคณะกรรมการตรวจสอบ

  • - สอบทานให้บริษัท มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ โดยการประสานงานกับผู้สอบบัญชีและผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดทำรายงานทางการเงินทั้งรายไตรมาสและประจำปี คณะกรรมการตรวจสอบอาจเสนอแนะให้ผู้สอบบัญชีสอบทานหรือตรวจสอบรายการใดๆ ที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นเรื่องสำคัญในระหว่างการตรวจสอบบัญชีของบริษัทก็ได้
  • - สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) การตรวจสอบภายใน (Internal Audit) และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล
  • - สอบทานให้บริษัท ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  • - พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง เลิกจ้าง และพิจารณาเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีภายนอกของบริษัท โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ ความเพียงพอของทรัพยากรและปริมาณงานตรวจสอบของสำนักงานสอบบัญชีนั้น รวมถึงประสบการณ์ของบุคลากรที่ได้รับมอบหมายให้ทำการตรวจสอบบัญชีของบริษัท
  • - พิจารณา คัดเลือก แต่งตั้ง และเลิกจ้างผู้ตรวจสอบภายใน
  • - พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องครบถ้วน
  • - จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบต้องประกอบด้วยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    1. ความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้ของรายงานทางการเงินของบริษัทฯ
    2. ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของบริษัทฯ
    3. ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ
    4. ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้สอบบัญชี
    5. ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    6. จำนวนการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ และการเข้าร่วมประชุมของกรรมการตรวจสอบแต่ละท่าน
    7. ความเห็นหรือข้อสังเกตโดยรวมที่คณะกรรมการตรวจสอบได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee Charter)
    8. รายการอื่นที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบภายใต้ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  • - สอบทานมาตรการและการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  • - กำกับดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท
  • - พิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน
  • - ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมาย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน โดยคัดเลือกกรรมการของบริษัทที่มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารไม่น้อยกว่า 3 ท่าน ซึ่งมีอย่างน้อย 1 ท่านต้องเป็นกรรมการอิสระและเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะถูกจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

  • - กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการชุดต่างๆ ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และกำหนดกระบวนการสรรหากรรมการบริษัทเพื่อแทนกรรมการบริษัทที่ครบวาระ โดยพิจารณาสรรหากรรมการบริษัทที่มีคุณสมบัติหลากหลายทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับบริษัท
  • - พิจารณาสรรหาบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัททดแทนกรรมการบริษัทที่ครบวาระหรือกรณีอื่นๆ โดยคำนึงถึงความหลากหลายในโครงสร้างคณะกรรมการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทและ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ
  • - พิจารณาทบทวนและเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริษัทในเรื่องโครงสร้าง หน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งแนวปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการชุดย่อย
  • - พิจารณาทบทวนและเสนอแนะหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับกฎบัตร (Charter) ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยชุดต่าง ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมและทันสมัยอยู่เสมอ
  • - จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ พร้อมทั้งรายชื่อผู้ที่เหมาะสม เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา
  • - เสนอนโยบายและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดขอบของกรรมการ โดยให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัท และผลการประเมินการปฏิบัติงาน เพื่อจูงใจ และรักษาบุคคลที่มีศักยภาพ และความสามารถ ทั้งนี้ให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • - ประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการ เพื่อกำหนดค่าตอบแทนก่อนนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเป็นประจำทุกปี
  • - พิจารณาทบทวน ศึกษา ติดตามความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในเรื่องผลตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งการเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนภายนอกอื่นๆ ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการบริหารงานให้เจริญก้าวหน้า
  • - รายงานความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการบริษัททุกครั้งหลังมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ
  • - ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนและรายงานผลการประเมินให้คณะกรรมการบริษัททราบ
  • - ปฏิบัติหน้าที่ในเรืองอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

 

หมวดที่ 2 ฝ่ายบริหาร

ผู้บริหาร หมายถึง กรรมการผู้จัดการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรกนับจากกรรมการผู้จัดการลงมา รวมทั้งผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย โดยนิยามดังกล่าวเป็นไปตามคำนิยามของตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย

บริษัทประกอบด้วยผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถและเชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการผู้จัดการ ดังนี้

แนวปฏิบัติ

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ

  • - มีอำนาจควบคุมการบริหารงานของบริษัท ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัท ตามลำดับ
  • - พิจารณาการจัดสรรงบประมาณประจำปีที่ฝ่ายบริหารจัดทำเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงาน
  • - พิจารณาประเมินการดำเนินงานของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอกบริษัท
  • - มีอำนาจสั่งการ ออกระเบียบ ประกาศ บันทึก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบายหรือผลประโยชน์ของบริษัท
  • - มีอำนาจพิจารณาอนุมัติการจัดซื้อ และใช้จ่ายเงินในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานตามปกติของบริษัท ซึ่งรวมถึง การอนุมัติการจัดซื้อสินค้าวัตถุดิบและบริการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และรายจ่ายลงทุนให้เป็นตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ภายในวงเงินที่ได้รับจากการมอบอำนาจ
  • - ในการพิจารณาจัดซื้อที่ดิน ให้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  • - พิจารณาการนำสิทธิและทรัพย์สินของบริษัท ไปก่อภาระผูกพันใดกับบุคคล บริษัท ห้างร้าน หรือสถาบันการเงิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ
  • - พิจารณาผลกำไรและขาดทุนของบริษัทประกอบการเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหรือเงินปันผลประจำปี เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติ
  • - ดำเนินการใดๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท ตามการให้อำนาจจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการบริษัท

      ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการอาจมอบอำนาจช่วงให้พนักงานระดับบริหารของบริษัท มีอำนาจอนุมัติทางการเงินเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องตามที่กรรมการผู้จัดการพิจารณาเห็นสมควร อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการดังกล่าวข้างต้น จะไม่รวมถึงอำนาจที่ทำให้กรรมการผู้จัดการสามารถอนุมัติรายการที่ตน หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใด (ตามข้อบังคับบริษัทและตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด) ทำกับบริษัท ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามปกติธุรกิจที่มีการกำหนดขอบเขตชัดเจนซึ่งระบุไว้ในเรื่องนโยบายในการทำรายการระหว่างกันในอนาคต

 

หมวดที่ 3 นโยบายและแนวปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาล

3.1 นโยบายสิทธิและความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมบริษัท ตระหนักถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัท โดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้น และมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่สำคัญของบริษัท คณะกรรมการบริษัทจึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท ตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น

แนวปฏิบัติ

        ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัท ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิต่างๆ ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ได้แก่

  • - สิทธิในการได้รับใบหุ้นและสิทธิในการโอนหุ้น
  • - สิทธิในการได้รับสารสนเทศที่เพียงพอ ทันเวลา และเหมาะสมต่อการตัดสินใจ
  • - สิทธิการรับซื้อหุ้นคืนโดยบริษัทอย่างเท่าเทียมกัน
  • - สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและการออกเสียงลงคะแนน
  • - สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการ
  • - สิทธิในส่วนแบ่งผลกำไร/เงินปันผล                                                        การประชุมผู้ถือหุ้น
  • คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการดูแลผลประโยชน์ของตน รวมถึงการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง เพียงพอ และครบถ้วน นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นสามารถใช้สิทธิในการเสนอระเบียบวาระ เสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการ และเสนอคำถามล่วงหน้า ซึ่งบริษัทได้ระบุถึงขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาที่ชัดเจน และโปร่งใส และได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นยังสามารถร่วมพิจารณาตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น และสอบถามตามระเบียบวาระการประชุม ผ่านการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงเรื่องสำคัญๆ นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  • คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุม โดยคำนึงถึงความสะดวกในการร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น และนักลงทุนสถาบัน และคณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือเชิญประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยวาระการประชุมที่มีข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของคณะกรรมการบริษัทไว้อย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้น พร้อมทั้งจัดให้มีหนังสือมอบฉันทะไปพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นด้วยตนเองได้ ให้ผู้ถือหุ้นล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 14 วัน พร้อมทั้งนำเสนอไว้บนเว็บไซต์บริษัทล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันประชุม และได้ประกาศลงหนังสือพิมพ์รายวัน ก่อนวันประชุม และติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน เพื่อบอกกล่าวเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า
  • การเข้าประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และระบบคอมพิวเตอร์ที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อรองรับการลงทะเบียน อีกทั้งใช้ระบบบาร์โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวก และรวดเร็วแก่ผู้มาลงทะเบียน นอกจากนี้บริษัทเปิดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนการประชุมอย่างน้อย 2 ชั่วโมงและต่อเนื่องจนกว่าการประชุมจะแล้วเสร็จ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระ หรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้โดยใช้หนังสือมอบฉันทะ แบบหนึ่งแบบใดที่ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม ทั้งนี้บริษัทได้จัดหนังสือมอบฉันทะในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนด ทิศทางการออกเสียงลงคะแนนได้ตามแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด พร้อมทั้งจัดให้มีอากรแสตมป์ไว้บริการให้ผู้ถือหุ้นสำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทยังให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากประธานในที่ประชุม เปิดการประชุมแล้ว สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวาระที่อยู่ ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติและนับเป็นองค์ประชุม ตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุมเป็นต้นไป เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
  • ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น คอยดูแลให้การประชุมเป็นไปตามระเบียบวาระ ข้อบังคับของบริษัท และกฎหมาย และจัดสรรเวลาสำหรับแต่ละวาระการประชุมที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุมอย่างเหมาะสม เมื่อเริ่มการประชุมทุกครั้ง ประธานกรรมการจะชี้แจงจำนวนและสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและของผู้ถือหุ้นที่มอบฉันทะ วิธีการลงคะแนนและนับคะแนน โดยบริษัทได้แสดงขั้นตอนการนับคะแนน และแสดงการสรุปผลคะแนนทุกขั้นตอนอย่างชัดเจนในห้องประชุม ในการลงคะแนนเสียง บริษัทใช้ระบบบาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจนับคะแนนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทได้เก็บบัตรลงคะแนนเฉพาะกรณีที่ผู้ถือหุ้นคัดค้าน หรืองดออกเสียง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีในวาระการเลือกตั้งกรรมการ บริษัทได้จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ บริษัทมีผู้เข้าร่วมตรวจนับและยืนยันความถูกต้องของคะแนนเสียง เพื่อให้การนับคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท สำหรับผลการตรวจนับคะแนนในแต่ละวาระ บริษัทได้เปิดเผยผลการลงคะแนนในแต่ละวาระของผู้ถือหุ้นที่ลงมติ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย/คัดค้าน งดออกเสียง ผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม
  • ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท ดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นตามลำดับวาระที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุม และมิได้มีการเพิ่มวาระในที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณาวาระต่างๆ อย่างเพียงพอและเหมาะสม ในการประชุมคณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสอบถามคำถามเพิ่มเติม โดยมีประธานกรรมการ ประธานกรรมการชุดย่อย กรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารระดับสูงด้านบัญชีการเงิน ร่วมตอบคำถาม อย่างไรก็ตามในการตอบคำถามคณะกรรมการ ได้ยึดถือความเท่าเทียมของการให้ข้อมูลสารสนเทศเป็นสำคัญ
  • - ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้ถือหุ้น เจ้าหน้าที่จะเก็บบัตรลงคะแนนเสียงสำหรับทุกวาระเพื่อเป็นหลักฐาน และคณะกรรมการบริษัท ได้มอบหมายให้เลขานุการบริษัท เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุมอย่างถูกต้องครบถ้วน และเผยแพร่รายงานการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกรายรับทราบผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้บริษัทได้จัดส่งรายงานการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วัน นับจากวันประชุมผู้ถือหุ้น และกระทรวงพาณิชย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งเผยแพร่ภาพและเสียงของการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้

 

3.2 นโยบายต่อผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการบริษัทตระหนักและเคารพสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจของบริษัท อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า เจ้าหนี้ คู่ค้า คู่แข่งทางการค้า ตลอดจน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

แนวปฏิบัติ

บริษัทได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจนและเป็นธรรม ดังนี้

  • - ผู้ถือหุ้น บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เชื่อถือได้ และแน่วแน่ในการสร้างงานสร้างกิจการให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเคารพในสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดให้มีช่องทางในการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยติดต่อผ่านเว็บไซต์และนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท
  • - พนักงาน บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของพนักงาน โดยถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัท บริษัทปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกันบนหลักสิทธิมนุษยชนตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการกำหนดค่าตอบแทน สวัสดิการและผลประโยชน์อื่นที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อให้มีความมั่นคงและเป็นผลประโยชน์ระยะยาวให้กับพนักงาน นอกจากนี้ บริษัทสนับสนุนให้พนักงานมีความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างเท่าเทียมกัน โดยการจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานและความปลอดภัย
  • - ลูกค้า บริษัทมุ่งเน้นสินค้าให้มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรม วิจัยและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งด้านคุณภาพ ราคา และความปลอดภัยเป็นสำคัญ อีกทั้งบริษัทจัดให้มีช่องทางรับข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะจากลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความพึงพอใจในสินค้ามากที่สุด รวมทั้งจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเป็นประจำทุกปี เพื่อนำข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนมาปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทตระหนักถึงการเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้า และจะไม่นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์โดยทางมิชอบ
  • - เจ้าหนี้ บริษัทปฏิบัติต่อเจ้าหนี้อย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าที่ตกลงกันและพันธะทางการเงินไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขค้าประกัน การบริหารเงินทุน และการชำระหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับเจ้าหนี้ มุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับเจ้าหนี้ และให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน ตลอดจนไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริต ปกปิดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันจะทำให้เจ้าหนี้เกิดความเสียหาย
  • - หน่วยราชการ บริษัทยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ในการเสียภาษีอย่างถูกต้อง และยึดถือในการปฏิบัติกับภาครัฐ หรือหน่วยราชการตามหลักกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  • - คู่ค้า บริษัทปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีการสร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจที่ดีต่อ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตและบริการให้ได้มาตรฐาน โดยบริษัทมีวิธีการคัดเลือกคู่ค้าที่มีความชัดเจน โปร่งใส ยุติธรรม ตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท
  • คู่แข่งทางการค้า บริษัทได้ปฏิบัติต่อคู่แข่งภายใต้กรอบการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม ไม่ล่วงละเมิดความลับ หรือแสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีทุจริต และไม่ทำลายชื่อเสียงและความสัมพันธ์กับคู่แข่งทางการค้า รวมถึงไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือคู่แข่งทางการค้า
  • ชุมชน สังคม บริษัทมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและการพัฒนาของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการยึดมั่นในการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งบริษัท นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะยึดมั่นปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี เคารพกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนเพื่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และสังคม
  • สิ่งแวดล้อม บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบาย คุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้พนักงานพึงใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต และมีการควบคุมดูแลการบริหารจัดการการกำจัดของเสีย ทั้งจากกระบวนการผลิตและการใช้งานทั่วไป รวมถึงสิ่งปนเปื้อนต่างๆ สู่สภาพแวดล้อมภายนอก โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO14001

3.3 นโยบายการเปิดเผยสารสนเทศและความโปร่งใส

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทจึงมีนโยบายที่จะดูแลการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โดยยืดถือตามแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่ในการสื่อสารกับนักลงทุน เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดเผยสารสนเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา ตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำปี แบบ 56-1 และรายงานความยั่งยืน เพื่อสื่อสาร นโยบาย แนวทางการบริหารจัดการ รวมถึงผลการดำเนินงาน ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการจัดทำคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ (MD&A) ประกอบการเปิดเผยงบการเงิน เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละไตรมาส ทั้งนี้ ยังมอบหมายฝ่ายจัดการในการติดตามดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้  และฐานะทางการเงินของบริษัท ตลอดจนทำหน้าที่กำกับดูแลให้มีระบบการจัดทำรายงานทางการเงินและการสอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือตามมาตรฐาน นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้ประธานบริหาร และ/หรือกรรมการผู้จัดการ และ/หรือผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ สามารถให้การสัมภาษณ์หรือสื่อสารข้อมูลกับสื่อสารมวลชน โดยมีขอบเขตในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท กิจการที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลทั่วๆไป

 

3.4 นโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี จึงได้กำหนดให้มีนโยบายการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายในและตรวจสอบภายใน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิผล และมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัท

แนวปฏิบัติ

การบริหารความเสี่ยง

คณะกรรมการบริษัทกำกับดูแล และสนับสนุนให้การบริหารความเสี่ยงมีการปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบาย และแนวทางการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารจัดทำระบบบริหารความเสี่ยงในแต่ละฝ่าย เพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญทั้งมาจากปัจจัยภายในและภายนอกของบริษัทที่อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ และทำการติดตามควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งรายงานไปยังคณะผู้บริหารซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการทันทีในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงมากกว่าระดับปกติที่ยอมรับได้เพื่อเร่งพิจารณาป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการจัดตั้งคณะดังกล่าวจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเห็นว่าการบริหารความเสี่ยงที่ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการอยู่ข้างต้นมีความเหมาะสมและเพียงพอ ดังนั้นคณะกรรมการบริษัท เห็นควรให้ชะลอการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงไปก่อน

ระบบ การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญของการมีระบบควบคุมภายในที่ดี และเพียงพอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ดังนั้น บริษัทได้มอบหมายให้บริษัทภายนอกเป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่สอบทานและติดตามผลการควบคุมภายในเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ และรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องระบบการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ตรงตามมาตรฐานสากล ที่บริษัทผ่านการรับรอง ISO 9001, GMP และ ISO 14001

3.5 นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน

คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดนโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการใช้ข้อมูลภายใน เพื่อป้องกันการเปิดเผยและป้องกันการทำรายการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รวมถึงการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตลอดจนการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาสจากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัท แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงห้ามไม่ให้กรรมการประกอบธุรกิจที่เป็นการแข่งขันกับบริษัท และหลีกเลี่ยงการทำรายการที่เกี่ยวโยงกับตนเองที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท หรือในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการที่อาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทจะมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายการดังกล่าวว่าเป็นรายการที่เป็นไปตามลักษณะธุรกิจทั่วไปและเป็นไปในราคาที่ยุติธรรม และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่มีส่วนได้เสียในรายการนั้นจะต้องไม่มีส่วนในการพิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และการเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียนอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้บริษัทมีการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทมีนโยบายกำกับดูแลไม่ให้ผู้บริหารของบริษัทนำข้อมูลภายในของบริษัทไปเปิดเผยโดยมิชอบ หรือใช้ผลประโยชน์ส่วนตน กรรมการและผู้บริหาร มีหน้าที่ต้องรายงานการซื้อขายและการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัททุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง และผู้บริหารที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญจะต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือนก่อนที่งบการเงินจะเปิดเผยต่อสาธารณชน รวมทั้งกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียของตนและบุคคลที่เกี่ยวข้องส่งให้เลขานุการบริษัท เพื่อจัดเก็บ รวบรวม และใช้ในการตรวจสอบกำกับดูแลด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้บริษัทได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติในการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานไว้ในคู่มือจริยธรรม นโยบายและระเบียบข้อบังคับของบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน

3.6 นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy)

คณะกรรมการบริษัท ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักการบรรษัทภิบาลที่ดี คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับเป็นแนวทางให้กับ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน นำไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท กล่าวคือ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ห้ามดำเนินการเกี่ยวข้องกับการให้หรือรับสินบนทุกประเภทไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ในการติดต่องานกับภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการให้หรือรับของกำนัล การเลี้ยงรับรอง และค่าใช่จ่ายอื่นๆให้เป็นไปตามที่บริษัทกำหนด

นอกจากนี้ พนักงานบริษัทจะไม่พึงละเลยหรือ เพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยพนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ เมื่อบริษัทตรวจสอบพบการกระทำทุจริต คอร์รัปชัน เป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของบริษัทจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

แนวปฏิบัติ

  1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานของบริษัททุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และจรรยาบรรณของบริษัทอย่างเคร่งครัด
  2. พนักงานบริษัท ไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชันการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และจะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ หากมีข้อสงสัย หรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัทผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทกำหนดไว้
  3. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเบาะแส หรือหลักฐานเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งข้อร้องเรียน และมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
  4. ผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันภายใต้ชื่อของบริษัทถือเป็นการกระทำผิด ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ นอกจากนี้ อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

3.7 นโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัท เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงในระยะยาวให้กับบริษัท และจะนำไปสู่การเติบโตและมั่นคงของประเทศขึ้นได้ คณะกรรมการบริษัท จึงมีนโยบายที่จะปฏิบัติตนเพื่อเป็นพลเมืองที่ดี ยึดมั่น และรักษา กฎระเบียบอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

แนวปฏิบัติ

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายส่งเสริมให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย พร้อมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารในการดำเนินงานของบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และโปร่งใส โดยรายงานความยั่งยืนของบริษัทได้ใช้แนวทางตามกรอบการรายงานความยั่งยืนสากล GRI Sustainability Reporting Standards (GRI Standards) เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลมีความเหมาะสม

3.8 จริยธรรมธุรกิจ

คณะกรรมการบริษัท มุ่งหวังให้ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติงานภายใต้กรอบจริยธรรม และจรรณยาบรรณอันดี ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีคู่มือจริยธรรมธุรกิจ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ สำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ

แนวปฏิบัติ            

นโยบายทางด้านสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักถึงความสำคัญต่อการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยบริษัทจะยึดมั่นในการปฏิบัติต่อพนักงาน บริษัทย่อย และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัทอย่างเป็นธรรม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ อายุ พื้นฐานการศึกษา และการให้สิทธิเท่าเทียมต่อคนพิการ รวมทั้งการรักษาสิทธิมนุษยชนของพนักงานตามที่กฎหมายแรงงานและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม

นโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา

คณะกรรมการบริษัท ตระหนักและเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่ละเมิดหรือไม่สนับสนุนการดำเนินการใดๆที่มีลักษณะเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ทั้งนี้ พนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทให้พ้นจากการนำไปใช้ หรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งต้องเคารพและไม่ละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยมีนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

-     รักษาและคุ้มครองสิทธิทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วยความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ต่างๆ การนำข้อมูลเหล่านี้ อันเป็นความลับของบริษัท คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เผยแพร่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำผิดนโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายและอาจต้องโทษทั้งทางแพ่งและอาญา

-     รายงานต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรืออาจนำไปสู่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการกระทำที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท หรือของบุคคลอื่น

 

หมวดที่ 4 การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีมาตรการในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ พฤติกรรมที่อาจเป็นการกระทำทุจริตของพนักงานและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ หรือกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่ได้ระบุไว้ในนโยบายต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน (Anti-corruption Policy) โดยบริษัท ยึดมั่นว่าจะรับฟังทุกข้อร้องเรียนอย่างเสมอภาค โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย สำหรับผู้ร้องเรียนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองด้วยหลักปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

แนวปฏิบัติ

วิธีการร้องเรียน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ชื่อ และนามสกุล ที่อยู่หรือที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์และ E-mail ของผู้ร้องเรียน

2. ชื่อ และนามสกุล ผู้ถูกร้องเรียน และที่อยู่ของผู้ถูกร้องเรียน (ถ้ามี)

3. วัน เดือน ปี ที่ร้องเรียน

4. วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ผู้ร้องเรียนพบเห็นพฤติกรรม หรือเหตุการณ์

5. ข้อเท็จจริงและการกระทำของผู้ถูกร้องเรียนที่ผู้ร้องเรียนเห็นว่าอยู่ในขอบเขตของเรื่องร้องเรียน

6. เอกสารหลักฐานประกอบการร้องเรียน (ถ้ามี)

7. ดำเนินการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน ดังนี้

  • - แจ้งผ่านช่องทางกล่องแสดงความคิดเห็นของบริษัท ณ จุดบริเวณทางเดินเข้า-ออก ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และโรงงาน
  • - แจ้งผ่านช่องทางอีเมล์ของ “ฝ่ายตรวจสอบภายในมาที่ อีเมล์: internalaudit@sherwood.co.th

   หรือช่องทางอีเมล์ของ “ฝ่ายเลขานุการบริษัทมาที่ อีเมล์: companysecretary@sherwood.co.th

  • - จดหมายปิดผนึก และจ่าหน้าซองถึง “ฝ่ายตรวจสอบภายในหรือ ฝ่ายเลขานุการบริษัทมายัง

   ที่อยู่: บริษัท เชอร์วู้ด คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

  1065 ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม. 10250